การคิด ชนิดต่างๆ
การคิดนับว่าสำคัญมากสำหรับมนุษย์ สังคมจะก้าวหน้าเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคม มีความสามารถในการคิดระดับใด การคิดแบ่งออกเป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดลักษณะใดของการคิดมาเป็นหลักในการแบ่ง พอจะแจกแจงเรื่องของการคิดได้ดังนี้
การคิดแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ตามลักษณะการแบ่งได้ดังนี้
1 แบ่งตามขอบเขตการคิด
1 การคิดในระบบปิด เป็นการคิดในขอบเขตจำกัด แนวการคิดไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การคิดทางคณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ เป็นต้น
2 การคิดในระบบเปิด เป็นการคิดที่เป็นไปตามความรู้ ความสามารถ ตาม ประสบการณ์ของแต่ละคนในแต่ละสิ่งแวดล้อม
2 แบ่งตามเพศ
1 การคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เป็นการคิดที่อาศัยสิ่งเร้าที่เป็นจริงเป็นเกณฑ์ เป็นการคิดที่ถือว่าเป็นพื้นฐานแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นลักษณะการคิดของเพศชายเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะของการคิดแบบวิเคราะห์คือ มีเหตุผล มีการคาดคะเน มีขอบเขต และเป็นแนวส่ง
2 การคิดแบบโยงความสัมพันธ์ (Relational Style) เป็นการคิดที่สัมพันธ์กับอารมณ์ ซึ่งมักยึดตนเองเป็นใหญ่ เกิดจากการหาความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น ความสัมพันธ์ทางด้านหน้าที่ กาลเวลา มักเป็นการคิดของเพศหญิง
3 แบ่งตามความสนใจของนักจิตวิทยา
1 การคิดรวบยอด (Concept) เป็นการคิดที่ได้จากการรับรู้ โดยมีการเปรียบเทียบทั้งลักษณะเหมือนและต่าง โดยการอาศัยประสบการณ์เดิม
2 การคิดหาเหตุผล (Reasoning) การคิดแบบนี้เริ่มจากมีการตั้งสมมุติฐาน แล้วมีการดำเนินการทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์
3 การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นความคิดที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ หรือการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ต่อมวลมนุษย์
4 แบ่งตามลักษณะการคิด
1 การคิดโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย (Undirected Thinking) หรือเรียกอีกอย่างว่า ความคิดต่อเนื่อง หรือความคิดเชื่อมโยง (Associative Thinking) เป็นการคิดจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงถึงกัน จนเหมือนการคิดแบบนี้จะไม่มีจุดหมายหรือควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีทิศทางในการคิด แบ่งเป็นประเภทย่อยได้หลายประเภท เช่น การคิดแบบฝันกลางวัน ฝันกลางคืน คิดตามความเชื่อผู้คิด หรือเข้าข้างตนเอง เป็นต้น
2 การคิดอย่างมีจุดหมาย (The Goal-directed Thinking) หรือ ความคิดตรง (Directed Thinking) เป็นการคิดที่มีจุดมุ่งหมาย คิดว่าจะทำอะไร สิ้นสุดที่ไหน ทำให้สำเร็จได้อย่างไร และมีการสรุปหลังจากที่คิดเสร็จแล้ว รูปแบบการคิดย่อยของแบบนี้เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) การคิดแบบสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) เป็นต้น
5 แบ่งตามเนื้อหาหลักสูตร เช่น
1 การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง ความตั้งใจที่จะพิจารณา ตัดสิน เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยที่ไม่คล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ หากแต่มีการตั้งคำถามโต้แย้ง ท้าทาย และพยายามหาคำตอบใหม่ที่สมเหตุสมผลให้มากกว่าข้อเสนอเดิม
2 การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไข หรือข้อจำกัดต่างๆ เข้าหาแกนหลักของเรื่องได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
3 การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) หมายถึง การแจกแจงองค์ประกอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์กันในแง่เหตุผลขององค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
4 การคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking) หมายถึง การพิจารณาเทียบเคียงความเหมือน และ/หรือ ความต่างของสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรือการหาทางเลือกที่ดีที่สุด
5 การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) หมายถึง ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆมาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นตามวัตถุประสงค์
6 การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) หมายถึง ความสามารถในการผสานข้อมูลทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไม่ขัดแย้งกัน แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดของเรื่องนั้น
7 การคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ หรือแนวคิด เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
8 การคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีหลักเกณฑ์ และมีความเหมาะสม
9 การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หมายถึงการขยายขอบเขตความคิดออกไปจากความคิดเดิม ไปสู่ความคิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหา
10 การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking) หมายถึงความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยที่ยังคงยึดหลักการเดิมไว้ได้
ยังมีการคิดอีกแบบที่น่าสนใจและจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตค่ะ คือการคิดแบบ “โยนิโสมนสิการ” ในพุทธศาสนา
โยนิโสมนสิการ เป็นกระบวนการคิดที่ตรงจุด ไม่วกวน เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญาในแง่ของศาสนาพุทธ เน้นที่สามารถดับทุกข์ได้ ดังนั้น ผู้ที่ฝึกการคิดแบบโยนิโสมนสิการอยู่บ่อยๆ จึงดำรงตนอยู่ในโลกได้อย่างสุข ไม่เต้นตามกระแสโลก ไม่เร่าร้อนไปตามสิ่งที่มากระทบ เป็นองค์ประกอบที่เรียกว่า “บุพนิมิต” อันชักนำบุคคลให้เข้าสู่มรรคมีองค์ 8
ซึ่งบุพนิมิตนี้ ประกอบด้วยปัจจัย 2 ส่วน คือ ปรโตโฆสะ คือเสียงจากภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม ข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ครู พ่อแม่ เพื่อน และ โยนิโสมนสิการ คือการคิดในใจอย่างแยบคาย
องค์ประกอบของโยนิโสมนสิการ
มี 4 ส่วน คือ
1 อุบายมนสิการ การคิดอย่างเข้าถึงความจริง ให้รู้ถึงลักษณะอันเป็นสามัญของสิ่งต่างๆ คือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
2 ปถมนสิการ คือ คิดอย่างมีขั้นตอน ไม่สับสน คิดอย่างต่อเนื่อง ไปตามลำดับ
3 การณมนสิการ คิดอย่างมีเหตุผล สืบสวนต้นเค้า หรือเหตุให้มาของเรื่อง
4 อุปปาทกมนสิการ คิดอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งหมายเอาในทางที่ก่อให้เกิดความเพียร ในทางดี ที่เป็นกุศล
วิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ
แบ่งได้เป็น 10 วิธีดังนี้ค่ะ
1 วิธีคิดแบบสืบสาวหาปัจจัย (Inquiry) คือการพิจารณาปรากฏการณ์ในปัจจุบันอันเป็นผล แล้วคิดสอบสวนเหตุย้อนลงไปถึงปัจจัยต่างๆที่สัมพัน์กัน และเกิดสืบเนื่องกันมา
บางทีเรียกการคิดวิธีนี้ว่าการคิดแบบ “อิทัปปัจจยตา ” อันมีหลักว่า เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี
2 วิธีคิดแบบแยกองค์ประกอบ (Analysis) เป็นการคิดที่แยกสิ่งต่างๆที่พบเห็นออกไปเป็นส่วนประกอบย่อยต่างๆตามความเป็นจริง (ในทางธรรมเน้นด้านการไม่ยึดถือมั่นในตัวตน เช่น รถ เมื่อกระจายชิ้นส่วนต่างๆออกหมด ก็ไม่เห็นตัวรถอีกต่อไป)
3 วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือรู้เท่าทันธรรมดา (The Three Characteristics) คือรู้ว่าทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้ถาวร
เหตุปัจจัยเหล่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจทรงอยู่ได้ตามธรรมดา สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไป ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ตามไปด้วย
เมื่อรู้เท่าทัน ก็จะไม่ทุกข์เมื่อสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพธรรมดาของมัน
4 วิธีคิดแบบอริยสัจจ์ (The Four Noble Truths) อันประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ในทุกเรื่อง (ปัจจุบัน แม้แต่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน นาๆชาติยังยอมรับว่าวิธีที่ใช้ในการแก้ไขเดิมๆนั้นไม่ได้ผล และมีการนำวิธีนี้ไปใช้แทน)
5 วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คิดตามหลักการและความมุ่งหมาย (Principle and Raional) คือพิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรม หรือหลักการ และอรรถ หรือความมุ่งหมาย เพื่อให้บรรลุผลตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ
6 วิธึคิดแบบเห็นคุณโทษและหาทางออก (Reward and Punishment Apptoach and Avoidance)คือพิจารณาให้เห็นทั้งคุณ หรือด้านดี (อัสสาทะ)โทษ หรือด้านเสีย (อาทีนวะ) และการหาทางออก (นิสสรณะ) หรือการไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งที่พิจารณานั้นๆ เพื่อให้เป็นอิสระจากสิ่งนั้นนั่นเอง
7 วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม (Real Value and Unreal Value) คือพิจารณาถึงการอุปโภคและบริโภค เพื่อให้เห็นว่าอะไรคือคุณค่าที่จำเป็น อะไรเป็นคุณค่าที่เสริมเข้ามาเพื่อปรนเปรอกิเลส เพื่อให้รู้เท่าทัน และบรรเทาความอยากมี อยากได้
เด็กในปัจจุบัน ควรฝึกการคิดลักษณะนี้ให้มากค่ะ ไม่อย่างนั้นคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาพยนตร์โฆษณา ค่านิยม จนอาจตัดสินใจผิดพลาดได้
8 วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม (Virture Stimulation) เป็นวิธีคิดที่สกัดกั้น บรรเทา หรือขัดเกลาตัณหา ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสแล้ว ยังช่วยส่งเสริมกุศลธรรมให้งอกงาม เช่น พิจารณากำจัดความอาฆาตด้วยการเจริญเมตตา การปลุกเร้าความเพียรเพื่อขับไล่ความเกียจคร้าน
ในกรณีที่ได้เกิดความคิดอกุศลขึ้นแล้ว การแก้ไขส่วนมากก็คือการใช้โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล ค่ะ คือเปลี่ยนนิมิตที่เป็นอกุศล ด้วยนิมิตที่เป็นกุศลแทน
9 วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน (Present Though) คือคิดด้วยปัญญาบนพื้นฐานความจริงในปัจจุบัน ส่วนเรื่องที่คิด จะเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้
เรามักเข้าใจผิดค่ะ ว่าการคิดวิธีนี้คือการคิดกับเหตุกาลที่เผชิญเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนให้ไม่วางแผนอนาคต
ความคิดที่ไม่เป็นปัจจุบันธรรมก็เช่น การละห้อยหาถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว การเพ้อฝันถึงอนาคตโดยไม่มีฐานจากความจริงในปัจจุบัน เป็นต้น
10 วิธีคิดแบบวิภัชชวาท (Well – Rounded Thought) คือการคิดแบบแยกองค์ประกอบและแจกแจงให้ครอบคลุมถ้วนทั่วทุกด้าน เช่น ความเป็นจริง องค์ประกอบ ขณะ ลำดับ เงื่อนไข ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ความเป็นไปได้ เป็นต้น
อันที่จริง วิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นการพูดอย่างมีหลักการที่แสดงความจริงในทุกๆด้าน แต่เนื่องจากการพูดกับการคิด เป็นกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก และเพราะก่อนการพูดก็ต้องมีการคิดก่อนจึงจัดวิธีพูดแบบนี้เป็นการคิดได้อีกแบบหนึ่งค่ะ
รูปแบบการคิดต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องพยายามฝึกเด็กค่ะ ไม่ใช่เพื่อความสามารถในการดำรงชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของเด็กเอง แต่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเราด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น