วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การคิดแก้ปัญหา

การคิดแก้ปัญหา

ความหมายของการคิดแก้ปัญหา
            การคิดแก้ปัญหา หมายถึง ความสามารถทางสมองในการขจัดสภาวะความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น โดยพยายาม ปรับตัวเองและสิ่งแวดล้อมให้ผสมกลมกลืนกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลหรือสภาวะที่เราคาดหวัง
            ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นมักจะพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาส่วนตัว ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานปัญหาทางสังคม เป็นต้น ผู้คิดแก้ปัญหาจะต้องศึกษาถึงสาเหตุที่มาของปัญหา ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกัน และจะพยายามคิดค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อจะแก้ไข การคิดหาวิธีการอาจได้มาโดยการศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ การขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อน แล้วจึงตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการตัดสินใจนั้น ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ ที่อาจทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป บ่อยครั้งเราอาจมีคำตอบ มากกว่าหนึ่ง ซึ่งมักเกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบในการคิดของตนเอง การฝึกฝนวิธีคิดแก้ปัญหานั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่ ช่วงแรกของชีวิต จึงทำให้สามารถที่จะเห็นทางเลือกต่าง ๆ ได้ และจะทวีความยากมากขึ้นเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไป รวมทั้งลักษณะนิสัยส่วนบุคคลก็มีส่วนสัมพันธ์กับรูปแบบทางความคิดที่จะทำให้เราพบทางเลือกใหม่และวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างออกไปจากเดิม
สาเหตุของการฝึกการคิดแก้ปัญหา
            การคิดแก้ปัญหา ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการคิดทั้งมวล การคิดแก้ปัญหาเป็นสิ่งสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้การคิดเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทักษะการคิดแก้ปัญหาเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตที่วุ่นวายสับสนได้เป็นอย่างดี ผู้ที่มีทักษะการคิดแก้ปัญหาจะสามารถเผชิญกับภาวะสังคมที่เคร่งเครียดได้อย่างเข้มแข็ง ทักษะการแก้ปัญหาจึงมิใช่เป็นเพียงการรู้จักคิดและรู้จักการใช้สมองหรือเป็นทักษะที่มุ่งพัฒนาสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาทัศนคติ วิธีคิด ค่านิยมความรู้ ความเข้าใจในสภาพการณ์ของสังคมได้ดีอีกด้วย (Eberle and Slanish, 1996 อ้างถึงใน สุวิทย์ มูลคำ,2547 : 15)
คุณสมบัติของนักคิดแก้ปัญหา
            ทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาได้ทั้งโดยตนเองและรับการฝึกฝนจากผู้อื่น นักคิด แก้ปัญหาจึงควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
            1. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล
            2. ตั้งใจค้นหาความจริง
            3. กระตือรือร้น
            4. ใฝ่รู้ใฝ่เรียน สนใจสิ่งรอบด้าน
            5. เปิดใจรับความคิดใหม่
            6. มีมนุษยสัมพันธ์
            7. มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำ
            8. กล้าหาญ กล้าเผชิญความจริง
            9. มีความคิดหลากหลายและคิดยืดหยุ่น
            10. มั่นใจในตนเอง
            11. มีความคิดสร้างสรรค์
            12. ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
            13. ใจเย็น สุขุม รอบคอบ

รูปแบบของกระบวนการคิดแก้ปัญหาวิธีต่าง ๆ จากนักคิดหลายท่าน ดังนี้
1.  แนวคิดการคิดแก้ปัญหา
           (http://eai.md.chula.ac.th/) อ้างอิง Peter Tugwell (1983) ดังนี้ การแก้ปัญหาแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน
           1.  การประเมินสถานการณ์ เป็นการวิเคราะห์ถึงสภาพ ขอบเขต ขนาดของปัญหา
           2.  การค้นหาต้นเหตุของปัญหา เป็นการศึกษาถึงต้นเหตุ หรือปัจจัยของปัญหา
           3.  การค้นหาวิธีการแก้ปัญหา เป็นการแสวงหาแนวทาง และทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหานั้นๆ เพื่อการประเมินหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
           4.  การดำเนินการแก้ปัญหา เป็นการเลือกโดยการประเมินวิธีการเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
           5.  การควบคุมกำกับการดำเนินการ เป็นการติดตามผลการปฏิบัติเป็นระยะๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดได้
           มยุรี  หรุ่นขำ (2544) อ้างอิงจากทฤษฎีเชาวน์ปัญญาของกิลฟอร์ด (Guilford, 1967) ให้รูปแบบการแก้ปัญหาโดยทั่วไป ประกอบด้วยการทำงานของกระบวนการทางสมองด้านการคิด (Operations) คือ การจำ (Memory) การรู้และเข้าใจ (Cognitive) การคิดแบบอเนกนัย (Divergent thinking) การคิดแบบเอกนัย (Convergent thinking) และการประเมินค่า (Evaluation)
           ซึ่งทั้งสองทฤษฎีดังกล่าวจะมีความสามารถผสมผสานการทำงาน   ตั้งแต่การใช้ความรู้ประสบการณ์เดิมในสมอง คือ ความจำที่ได้รู้จากการเรียนรู้   ประสบการณ์ที่ได้จากบุคคล สิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์รอบตัวมาเป็นเครื่องประเมิน กลั่นกรอง แยกแยะ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาทางออกให้ปัญหาเหล่านั้นโดยการคิดที่เป็นเอกนัยหรืออเนกนัยก็ตามเพื่อให้เกิดแนวทางเลือกทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด แล้วติดตามประเมินผลเพื่อรอดูผลและแก้ไขสถานการณ์หากเกิดซ้ำอีก ซึ่งกระบวนการคิดแก้ปัญหาของกิลฟอร์ด มีดังนี้
           1.  ขั้นเตรียมการ คือขั้นของการค้นพบปัญหาที่แท้จริง
           2.  วิเคราะห์ปัญหา คือการพิจารณาสาเหตุสำคัญๆ ของปัญหา
           3.  ขั้นเสนอแนวทางแก้ปัญหา คือการหาวิธีการแก้ปัญหา เป็นทางเลือกที่ตรงกับสาเหตุ แล้วใช้การแก้ปัญหา
           4.  ขั้นตรวจสอบผล เป็นการติดตามประเมินผลจากข้อ 3 เพื่อให้พบผลลัพธ์ที่พอใจ อาจต้องแก้ไขทิศทางการแก้ปัญหาใหม่
           5.  ขั้นการนำไปประยุกต์ใช้ เมื่อพบปัญหาใกล้เคียงอาจนำไปศึกษาเพื่อแก้ไข เพื่อหาทิศทางใหม่
2. วิธีการสอนแบบแก้ปัญหา ( Problem Solving Method )

                จอห์น ดิวอี้ เป็นผู้คิดวิธีสอนแก้ปัญหานี้ขึ้น โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้ศึกษาและฝีกฝนวิธีการแก้ปัญหาต่างๆที่พบในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นกระบวนการ สมเหตุสมผลและมีหลักเกณฑ์ อันเป็นการเตรียมเด็กหนุ่มสาวให้สามารถปรับปรุงตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากหลายๆสาขาวิชามาประกอบกันในการแก้ปัญหานั้นๆ สำหรับขั้นตอนการสอนของวิธีการสอนแบบแก้ปัญหา มีดังนี้:
ขั้นตอนการสอน
ขั้นที่1 กำหนดปัญหา
                เป็นขั้นที่ครู นักเรียน หรือครูกับนักเรียนกำหนดปัญหา ขันโดยวิธีการต่างๆ เช่น ถามนำเข้สู่บทเรียน เล่าเรื่องหรือประสบการณ์ แล้ตั้งปัญหา ใช้สถานการณ์ในชุมชนมาตั้งปัญหา จัดสถานการณในห้องเรียนกระตุ้นให้เกิดปัญหาเป็นต้น
ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์ปัญหา
                เมื่อได้ปัญหาจากขั้นที่ 1 มาแล้ว ครูจะนำนักเรียนให้คิดพิจารณาปัญหา จากนั้นก็จะแบ่งกลุ่ม เพื่อรับผิดชอบในการแก้ปัญหาแต่ละข้อ การสอนขั้นนี้จะจบลงด้วยการเสนอแนะแหล่งความรู้ที่แต่ละกลุ่มควรไปค้นคว้าหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหา
ขั้นที่ 3 ตั้งสมมุติฐาน
                เป็นขั้นที่นักเรียนคาดเดาว่าปัญหานั้นๆมีสาเหตุมาจากอะไร หรือวิธีการแก้ปัญหานั้นน่าจะแก้ไขโดยวิธีใด หรือปัญหานั้นควรมีคำตอบว่าอย่างไร เป็นต้น
ขั้นที่ 4 เก็บรวบรวมข้อมูล
                นักเรียนแต่ละกลุ่มจะไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อแก้ปัญหาด้วยการทำกิจกรรมต่างตามที่ว่างแผนไว้ในขั้นที่ 2 เช่น อ่านหนังสือ สัมภาษณ์ผู้รู้ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ทำแผนภูมิ ทำแผนผัง ทำสมุดภาพ ชมภาพยนต์หรือวิดีทัศน์ ทดลองปฏิบัติ เป็นต้น ขณะทำกิจกรรมครูจะคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ขั้นที่ 5 วิเคราะห์ข้อมูล
                เป็นขั้นตอนแต่ละกลุ่มร่วมกันนำข้อมูลที่ไปค้นคว้าหรือทดลองมาวิเคราะห์และส้งเคราห์ หาคำตอบที่ต้องการ หรือพิสูจน์ว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้นั้น ถูกต้องหรือไม่ คำตอบที่ถูกคืออะไร
ขั้นที่ 6 สรุปผล
                เป็นขั้นที่นักเรียนสรุปผลการเรียนรู้และหลักการที่ได้จากการศึกษาหาปัญหานี้

3.  การคิดแก้ปัญหา
สเตนิช (Stanish) ได้เสนอว่า ในการฝึกการคิดแก้ปัญหาจะมีทักษะและมีการฝึกเป็นขั้นตอน การฝึกทักษะการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นจะมีกระบวนการฝึกฝน 6 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นตระหนักรู้ปัญหา (Sensing Problem and Challenges)
2. ขั้นค้นหาสาเหตุของปัญหา หรือขั้นรวบรวมข้อมูล (Data Finding)
3. ขั้นกำหนดปัญหา (Problem Finding)
4. ขั้นหาแนวทางในการแก้ปัญหา (Idea Finding)
5. ขั้นค้นหาข้อสรุปและเลือกวิธีการแก้ปัญหา (Solution Finding)
6. ขั้นยอมรับข้อสรุปและดำเนินการแก้ปัญหา (Acceptance Finding)
โดยจะต้องฝึกฝนทีละขั้นตอนตามลำดับตั้งแต่ขั้นที่ 1 เรื่อยไปจนถึงขั้นที่ 6 เพราะในแต่ละขั้นตอนก็แตกต่างกัน และเน้นหนักทักษะที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในการฝึกจึงไม่ควรยกเว้นหรือข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งด้วย

วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

 การคิด ชนิดต่าง

            การคิด ชนิดต่างๆ
                       
                 การคิดนับว่าสำคัญมากสำหรับมนุษย์ สังคมจะก้าวหน้าเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคม มีความสามารถในการคิดระดับใด การคิดแบ่งออกเป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดลักษณะใดของการคิดมาเป็นหลักในการแบ่ง พอจะแจกแจงเรื่องของการคิดได้ดังนี้
การคิดแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ตามลักษณะการแบ่งได้ดังนี้
          1 แบ่งตามขอบเขตการคิด  
1 การคิดในระบบปิด เป็นการคิดในขอบเขตจำกัด แนวการคิดไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การคิดทางคณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ เป็นต้น    
2 การคิดในระบบเปิด เป็นการคิดที่เป็นไปตามความรู้ ความสามารถ ตาม ประสบการณ์ของแต่ละคนในแต่ละสิ่งแวดล้อม
           2 แบ่งตามเพศ      
1 การคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เป็นการคิดที่อาศัยสิ่งเร้าที่เป็นจริงเป็นเกณฑ์ เป็นการคิดที่ถือว่าเป็นพื้นฐานแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นลักษณะการคิดของเพศชายเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะของการคิดแบบวิเคราะห์คือ มีเหตุผล มีการคาดคะเน มีขอบเขต และเป็นแนวส่ง
2 การคิดแบบโยงความสัมพันธ์ (Relational Style) เป็นการคิดที่สัมพันธ์กับอารมณ์ ซึ่งมักยึดตนเองเป็นใหญ่ เกิดจากการหาความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น ความสัมพันธ์ทางด้านหน้าที่ กาลเวลา มักเป็นการคิดของเพศหญิง

              3 แบ่งตามความสนใจของนักจิตวิทยา
1 การคิดรวบยอด (Concept) เป็นการคิดที่ได้จากการรับรู้ โดยมีการเปรียบเทียบทั้งลักษณะเหมือนและต่าง โดยการอาศัยประสบการณ์เดิม
2 การคิดหาเหตุผล (Reasoning) การคิดแบบนี้เริ่มจากมีการตั้งสมมุติฐาน แล้วมีการดำเนินการทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์
3 การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นความคิดที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ หรือการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ต่อมวลมนุษย์
             4 แบ่งตามลักษณะการคิด  
1 การคิดโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย (Undirected Thinking) หรือเรียกอีกอย่างว่า ความคิดต่อเนื่อง หรือความคิดเชื่อมโยง (Associative Thinking) เป็นการคิดจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงถึงกัน จนเหมือนการคิดแบบนี้จะไม่มีจุดหมายหรือควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีทิศทางในการคิด แบ่งเป็นประเภทย่อยได้หลายประเภท เช่น การคิดแบบฝันกลางวัน ฝันกลางคืน คิดตามความเชื่อผู้คิด หรือเข้าข้างตนเอง เป็นต้น
2 การคิดอย่างมีจุดหมาย (The Goal-directed Thinking) หรือ ความคิดตรง (Directed Thinking) เป็นการคิดที่มีจุดมุ่งหมาย คิดว่าจะทำอะไร สิ้นสุดที่ไหน ทำให้สำเร็จได้อย่างไร และมีการสรุปหลังจากที่คิดเสร็จแล้ว รูปแบบการคิดย่อยของแบบนี้เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) การคิดแบบสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) เป็นต้น
               5 แบ่งตามเนื้อหาหลักสูตร เช่น
1 การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง ความตั้งใจที่จะพิจารณา ตัดสิน เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยที่ไม่คล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ หากแต่มีการตั้งคำถามโต้แย้ง ท้าทาย และพยายามหาคำตอบใหม่ที่สมเหตุสมผลให้มากกว่าข้อเสนอเดิม
2 การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไข หรือข้อจำกัดต่างๆ เข้าหาแกนหลักของเรื่องได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
3 การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) หมายถึง การแจกแจงองค์ประกอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์กันในแง่เหตุผลขององค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

4 การคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking) หมายถึง การพิจารณาเทียบเคียงความเหมือน และ/หรือ ความต่างของสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรือการหาทางเลือกที่ดีที่สุด
5 การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) หมายถึง ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆมาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นตามวัตถุประสงค์
                6 การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) หมายถึง ความสามารถในการผสานข้อมูลทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไม่ขัดแย้งกัน แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดของเรื่องนั้น
                7 การคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ หรือแนวคิด เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
                 8 การคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีหลักเกณฑ์ และมีความเหมาะสม
                 9 การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หมายถึงการขยายขอบเขตความคิดออกไปจากความคิดเดิม ไปสู่ความคิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหา
                10 การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking) หมายถึงความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยที่ยังคงยึดหลักการเดิมไว้ได้

ยังมีการคิดอีกแบบที่น่าสนใจและจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตค่ะ คือการคิดแบบ “โยนิโสมนสิการ” ในพุทธศาสนา
โยนิโสมนสิการ เป็นกระบวนการคิดที่ตรงจุด ไม่วกวน เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญาในแง่ของศาสนาพุทธ เน้นที่สามารถดับทุกข์ได้ ดังนั้น ผู้ที่ฝึกการคิดแบบโยนิโสมนสิการอยู่บ่อยๆ จึงดำรงตนอยู่ในโลกได้อย่างสุข ไม่เต้นตามกระแสโลก ไม่เร่าร้อนไปตามสิ่งที่มากระทบ เป็นองค์ประกอบที่เรียกว่า “บุพนิมิต” อันชักนำบุคคลให้เข้าสู่มรรคมีองค์ 8
ซึ่งบุพนิมิตนี้ ประกอบด้วยปัจจัย 2 ส่วน คือ ปรโตโฆสะ คือเสียงจากภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม ข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ครู พ่อแม่ เพื่อน และ โยนิโสมนสิการ คือการคิดในใจอย่างแยบคาย
               องค์ประกอบของโยนิโสมนสิการ  
มี 4 ส่วน คือ
1 อุบายมนสิการ การคิดอย่างเข้าถึงความจริง ให้รู้ถึงลักษณะอันเป็นสามัญของสิ่งต่างๆ คือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
2 ปถมนสิการ คือ คิดอย่างมีขั้นตอน ไม่สับสน คิดอย่างต่อเนื่อง ไปตามลำดับ
3 การณมนสิการ คิดอย่างมีเหตุผล สืบสวนต้นเค้า หรือเหตุให้มาของเรื่อง
4 อุปปาทกมนสิการ คิดอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งหมายเอาในทางที่ก่อให้เกิดความเพียร ในทางดี ที่เป็นกุศล
                วิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ

แบ่งได้เป็น 10 วิธีดังนี้ค่ะ
                1 วิธีคิดแบบสืบสาวหาปัจจัย (Inquiry) คือการพิจารณาปรากฏการณ์ในปัจจุบันอันเป็นผล แล้วคิดสอบสวนเหตุย้อนลงไปถึงปัจจัยต่างๆที่สัมพัน์กัน และเกิดสืบเนื่องกันมา
บางทีเรียกการคิดวิธีนี้ว่าการคิดแบบ “อิทัปปัจจยตา ” อันมีหลักว่า เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี
                 2 วิธีคิดแบบแยกองค์ประกอบ (Analysis) เป็นการคิดที่แยกสิ่งต่างๆที่พบเห็นออกไปเป็นส่วนประกอบย่อยต่างๆตามความเป็นจริง (ในทางธรรมเน้นด้านการไม่ยึดถือมั่นในตัวตน เช่น รถ เมื่อกระจายชิ้นส่วนต่างๆออกหมด ก็ไม่เห็นตัวรถอีกต่อไป)
                 3 วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือรู้เท่าทันธรรมดา (The Three Characteristics) คือรู้ว่าทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้ถาวร
เหตุปัจจัยเหล่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจทรงอยู่ได้ตามธรรมดา สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามไป ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ตามไปด้วย
เมื่อรู้เท่าทัน ก็จะไม่ทุกข์เมื่อสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพธรรมดาของมัน
                4 วิธีคิดแบบอริยสัจจ์ (The Four Noble Truths) อันประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ในทุกเรื่อง (ปัจจุบัน แม้แต่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน นาๆชาติยังยอมรับว่าวิธีที่ใช้ในการแก้ไขเดิมๆนั้นไม่ได้ผล และมีการนำวิธีนี้ไปใช้แทน)
                5 วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คิดตามหลักการและความมุ่งหมาย (Principle and Raional)  คือพิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรม หรือหลักการ และอรรถ หรือความมุ่งหมาย เพื่อให้บรรลุผลตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ
               6 วิธึคิดแบบเห็นคุณโทษและหาทางออก (Reward and Punishment Apptoach and Avoidance)คือพิจารณาให้เห็นทั้งคุณ หรือด้านดี (อัสสาทะ)โทษ หรือด้านเสีย (อาทีนวะ) และการหาทางออก (นิสสรณะ) หรือการไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งที่พิจารณานั้นๆ เพื่อให้เป็นอิสระจากสิ่งนั้นนั่นเอง
              7 วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม (Real Value and Unreal Value) คือพิจารณาถึงการอุปโภคและบริโภค เพื่อให้เห็นว่าอะไรคือคุณค่าที่จำเป็น อะไรเป็นคุณค่าที่เสริมเข้ามาเพื่อปรนเปรอกิเลส เพื่อให้รู้เท่าทัน และบรรเทาความอยากมี อยากได้
เด็กในปัจจุบัน ควรฝึกการคิดลักษณะนี้ให้มากค่ะ ไม่อย่างนั้นคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของภาพยนตร์โฆษณา ค่านิยม จนอาจตัดสินใจผิดพลาดได้

              8 วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม (Virture Stimulation) เป็นวิธีคิดที่สกัดกั้น บรรเทา หรือขัดเกลาตัณหา ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสแล้ว ยังช่วยส่งเสริมกุศลธรรมให้งอกงาม เช่น พิจารณากำจัดความอาฆาตด้วยการเจริญเมตตา การปลุกเร้าความเพียรเพื่อขับไล่ความเกียจคร้าน
ในกรณีที่ได้เกิดความคิดอกุศลขึ้นแล้ว การแก้ไขส่วนมากก็คือการใช้โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล ค่ะ คือเปลี่ยนนิมิตที่เป็นอกุศล ด้วยนิมิตที่เป็นกุศลแทน
             9 วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน (Present Though) คือคิดด้วยปัญญาบนพื้นฐานความจริงในปัจจุบัน ส่วนเรื่องที่คิด จะเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้
เรามักเข้าใจผิดค่ะ ว่าการคิดวิธีนี้คือการคิดกับเหตุกาลที่เผชิญเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนให้ไม่วางแผนอนาคต
ความคิดที่ไม่เป็นปัจจุบันธรรมก็เช่น การละห้อยหาถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว การเพ้อฝันถึงอนาคตโดยไม่มีฐานจากความจริงในปัจจุบัน เป็นต้น
           10 วิธีคิดแบบวิภัชชวาท (Well – Rounded Thought) คือการคิดแบบแยกองค์ประกอบและแจกแจงให้ครอบคลุมถ้วนทั่วทุกด้าน เช่น ความเป็นจริง องค์ประกอบ ขณะ ลำดับ เงื่อนไข ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ความเป็นไปได้ เป็นต้น
อันที่จริง วิภัชชวาทไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นการพูดอย่างมีหลักการที่แสดงความจริงในทุกๆด้าน แต่เนื่องจากการพูดกับการคิด เป็นกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก และเพราะก่อนการพูดก็ต้องมีการคิดก่อนจึงจัดวิธีพูดแบบนี้เป็นการคิดได้อีกแบบหนึ่งค่ะ
รูปแบบการคิดต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องพยายามฝึกเด็กค่ะ ไม่ใช่เพื่อความสามารถในการดำรงชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของเด็กเอง แต่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเราด้วย